ประกันรถยนต์ หัก ณ ที่จ่าย แล้วเราขอคืนภาษีได้มั๊ย?

ในการที่คุณจะมีรถขับสักคันหนึ่ง แน่นอนว่าต้องมีค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ตามมาอีกเป็นขบวนทีเดียวค่ะ ไม่ว่าจะเป็น ค่าผ่อนงวดรถ ค่าตกแต่งรถ ค่าน้ำมัน ค่าวัสดุสิ้นเปลืองของรถ อย่างน้ำมันเครื่อง อุปกรณ์ภายในอื่น ๆ ที่ต้องเปลี่ยนตามระยะ และรวมไปถึงค่าเบี้ยประกันรถยนต์ ที่จ่ายทีก็เล่นเอาหน้ามืดไปเหมือนกันค่ะ และหากใครตำแหน่งสูงหน่อยที่ทางบริษัทมีรถมาให้ และเมื่อจะทำประกัน คุณอาจพบว่าต้องมี ประกันรถยนต์ หัก ณ ที่จ่าย หรือแม้แต่ค่าเบี้ยประกันปกติที่จ่ายกันปีละหลักหลายพันไปจนหลายหมื่นเนี่ย อาจเกิดสงสัยว่า เราขอคืนภาษีได้มั๊ย บทความนี้มีคำตอบค่ะ

ประกันรถยนต์ หัก ณ ที่จ่าย

ก่อนอื่นที่จะคุยเรื่องประกันรถยนต์ หัก ณ ที่จ่าย ต้องมาว่ากันในกรณีที่คุณเป็นบุคคลธรรมดาก่อนนะคะ ก็คือคนทั่ว ๆ ไปที่ซื้อรถมาหนึ่งคัน และต้องการความคุ้มครองเมื่อเกิดอุบัติเหตุเกิดขึ้น ดังนั้นคุณก็ต้องทำประกันรถยนต์ใช่ไหมคะ จะมีรายละเอียดตามด้านล่างค่ะ

 

โดยยอดเงินที่แสดงในกรมธรรม์จะแบ่งออกเป็น 3 ส่วนดังนี้

  1. เบี้ยประกันรถยนต์สุทธิ ในรายการจะแสดงเบี้ยประกันรถยนต์สุทธิที่ทางบริษัทประกันเก็บจากลูกค้า หรือตัวคุณนั่นเอง สมมติว่า 20,000 บาทก็แล้วกันค่ะ
  2. ค่าอากรแสตมป์ คิดในอัตรา04% ของเบี้ยประกันสุทธิ เศษสตางค์ปัดขึ้น เท่ากับว่าถ้าเบี้ยประกันรถยนต์สุทธิของคุณ 20,000 บาท คุณจะเสียค่าอากรแสตมป์ 8 บาท
  3. ภาษีมูลค่าเพิ่ม VAT ค่าเบี้ยของคุณจะถูกคิดภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% จากเบี้ยประกันสุทธิ + อากรแสตมป์ เท่ากับ 1,400.56 บาท

เท่ากับว่าคุณจะต้องจ่ายเบี้ยประกันรถยนต์ เท่ากับ 20,000 + 8 + 1,400.56 นั่นคือ 21,408.56 บาท และเงินค่าเบี้ยประกันรถยนต์นี้ คุณไม่สามารถนำไปรวมกับรายได้ เพื่อทำเรื่องหักลดหย่อนขอภาษีคืน อีกทั้งไม่ใช่ประกันรถยนต์ หัก ณ ที่จ่ายอีกด้วย

 

กรณีต่อมา หากคุณเป็นผู้บริหารบริษัทใดบริษัทหนึ่ง และทางบริษัทก็มอบรถประจำตำแหน่งให้กับคุณ 1 คัน และทำประกันรถยนต์ให้ด้วย โดยทางบริษัทเป็นผู้เอาประกัน ในกรณีนี้บริษัทจะต้องถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 1% ของยอดเบี้ยประกันสุทธิ + อากรแสตมป์ ถ้าเป็นตัวอย่างยอดเงินข้างต้นเท่ากับว่า ยอดภาษีหัก ณ ที่จ่ายเท่ากับ (20,000 + 8) x 1%  เท่ากับ 200.08 บาท โดยหากต้องการหัก ณ ที่จ่าย ควรแจ้งให้ตัวแทนหรือนายหน้าของบริษัทประกันทราบตอนแจ้งทำประกันด้วยนะคะ

 

อาจดูวุ่นวายเล็กน้อยในกรณีที่เป็นนิติบุคคลเท่านั้น ที่ต้องมีประกันรถยนต์ หัก ณ ที่จ่าย แต่บุคคลธรรมดาอย่างเรา ๆ ก็ไม่ได้ยุ่งยากอะไร เพียงแต่ทราบข้อมูลเหล่านี้ไว้ เมื่อเห็นยอดในกรมธรรม์ก็จะได้ไม่สับสน สามารถเข้าใจได้ทันทีค่ะ แล้วเราจะนำเกร็ดความรู้เล็ก ๆ น้อย ๆ แบบนี้มาฝากกันใหม่ในบทความต่อ ๆ ไปนะคะ